skip to Main Content
เมื่อลูกหลานเป็นซึมเศร้า พูดคุยกับเขายังไงดี

ลูกหลานเป็นซึมเศร้า ต้องพูดกับเขายังไงดี

ซึมเศร้า! รู้ก่อน ช่วยเหลือก่อน ป้องกันปัญหาใหญ่ที่คุณอาจคาดไม่ถึง บ้านไหนเป็นแบบนี้บ้าง? เมื่อลูกหลานเป็นซึมเศร้า เราทำอย่างไรดี? เรื่องที่เราคิดว่าเล็กๆ อาจเป็นเรื่องใหญ่ของเด็กๆ

ลูกหลานเป็นซึมเศร้า รับมือไม่อยาก อยู่ที่การเริ่มพูดคุย

เค้าท์อัพมีเคล็ดลับจาก คุณพงษ์มาศ ทองเจือ นักจิตวิทยาการปรึกษาจาก Knowing Mind มาฝาก เพราะภาวะซึมเศร้า เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการฆ่าตัวตายในปัจจุบัน ซึ่งก็อาจจะเกิดขึ้นกับลูกหลานของเราได้ จึงต้องรู้วิธีในการเริ่มพูดคุยเพื่อให้เขารู้สึกดีขึ้น

1.ถามไถ่ทุกข์สุข ใช้คำถามปลายเปิด ไม่ถามจู้จี้

ถ้าเริ่มสังเกตว่าลูกมีภาวะซึมเศร้า มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ควรเข้าไปถามไถ่ทุกข์สุขด้วยคำกว้าง ๆ เช่น วันนี้เป็นยังไงบ้าง ไม่ใช่ถามว่า วันนี้ดีไหม คำถามปลายปิดให้ตอบดีหรือไม่ดี ถ้าเด็กมีวันที่ไม่ดีเลย เด็กจะไม่อยากตอบ และการพยายามเข้าหาถามลูกมากเกินไปอาจทำให้ลูกอึดอัด เรื่องที่เศร้าเด็กอาจรู้สึกอายไม่สะดวกใจที่จะเล่าให้ผู้ใหญ่ฟัง และช่วงแรกนี้พ่อแม่สามารถถามลูกได้ว่า ในภาวะที่ลูกรู้สึกแบบนี้พ่อแม่ช่วยอะไรได้บ้าง อยากให้พ่อแม่วางตัวอย่างไร

2. ไม่เข้าโหมดสอน ไม่แนะนำให้อดทน ไม่กดดันให้พยายาม

ในการพูดคุยกับลูกพ่อแม่อย่าเพิ่งเข้าโหมดสอนมาก เพราะคนที่กำลังหดหู่ การถูกสอนหรือถูกบอกว่าให้ทำอะไร ลูกจะรู้สึกว่าเราไม่เข้าใจเขาเลย ลองนึกว่าถ้าเป็นเรากำลังอยู่ในช่วงที่เหนื่อยมากๆ แล้วมีคนมาบอกว่า ไปทำอีกหน่อยสิ อดทนอีกหน่อย คำแนะนำว่าให้อดทน พยายาม สู้ คำที่หวังดีเหล่านี้ ลูกจะรู้สึกว่าเป็นคำกดดันของพ่อแม่ที่ไม่เข้าใจเลย

3. สัมผัสด้วยการโอบกอดและปลอบประโลม

บางครั้งสิ่งที่เด็กต้องการอาจจะไม่ได้อยากให้พ่อแม่มาช่วยแก้ปัญหาให้ แต่เขาอยากได้พ่อแม่ที่เข้าใจว่าขณะนั้นเขารู้สึกอย่างไร พ่อแม่ยังไม่ต้องบอกทางแก้ไขปัญหา ยังไม่ต้องบอกว่าลูกต้องออกไปทำสิ่งนั้นสิ่งนี้เพื่อให้อาการดีขึ้น ในช่วงเวลาแบบนี้ลูกต้องการพ่อแม่ที่โอบกอดเขา บางครั้งถ้าเรายังนึกไม่ออกจริงๆ ว่าจังหวะนั้นเราควรจะพูดอะไรกับลูก การสัมผัสตัว การกอด การลูบหัวก็สามารถเป็นกำลังใจให้ลูกได้

4. รับฟังอย่างใส่ใจ เข้าใจความรู้สึก สะท้อนสิ่งที่เรารู้สึกให้ลูกฟัง

อีกเรื่องที่มีผลกับลูกมากคือ การรับรู้ว่าพ่อแม่เข้าใจความรู้สึกของเขาจริงๆ ถ้าเราสามารถสะท้อนความรู้สึกของลูก หรือที่เรียกว่า Reflection ได้จะยิ่งทำให้ลูกรับรู้ได้ว่าพ่อแม่เข้าใจเขา ซึ่งการเข้าใจความรู้สึก และการ Reflection มาจากการรับฟังลูกอย่างใส่ใจจริงๆ แล้วสะท้อนกลับสิ่งได้รับฟังให้ลูกรู้ เช่น หลังจากฟังลูกแล้ว บอกลูกว่าพ่อเข้าใจว่ามันยาก แม่รู้ว่าลูกรู้สึกเหนื่อย พ่อรู้ว่าลูกผิดหวังกับเรื่องนี้มาก เมื่อลูกเห็นว่าเรารับรู้ว่าเขารู้สึกอย่างไร เขาจะเริ่มเปิดใจกับพ่อแม่มากขึ้น

5. วางตัวเป็นเพื่อน งดเอาประสบการณ์ไปสอนลูก

ลองจินตนาการเวลาลูกไปคุยกับเพื่อน เช่น ถ้าลูกอกหัก เพื่อนจะบอกว่าฉันเข้าใจนะ ฉันรู้ว่าเธอรู้สึกยังไง แต่พ่อแม่มักจะเผลอนำประสบการณ์ของตนเองมาเทียบเคียงแล้วเข้าโหมดสอน เช่น สมัยแม่นะแม่อกหักก็ไม่เป็นมากเหมือนลูก ถ้าพ่อแม่ลองวางตัวเป็นเพื่อน แค่บอกลูกว่า แม่เข้าใจนะ รักครั้งนี้เจ็บปวดลูกทุ่มเทไปเยอะ ลูกรู้สึกแย่มากไม่ไหวเลยใช่ไหม เด็กก็จะรู้สึกว่าแม่เข้าใจ แม่ไม่ตัดสินเราจากมุมของแม่ แม่โอบกอดความผิดหวังของเรา และแม่ปลอบประโลมเราได้

6. เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ลูก ถามเหตุผลความรู้สึก ไม่ด่วนดุว่าทันที

เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับลูก ถ้าเขาทำอะไรผิดพลาด หรือสัญญาว่าจะทำอะไรแล้วไม่ทำ การตอบสนองของเราควรเป็นไปด้วยความเข้าใจอกเข้าใจ ปลอบประโลม ไม่ด่วนดุลูก แต่ถามเหตุผลและความรู้สึกของลูกก่อนเสมอ เช่น ลูกไม่ทำงานส่งคุณครูเพราะอะไร ทำไมลูกรู้สึกไม่อยากทำ แล้วถ้าวันไหนลูกกลับมาทำได้ดีก็ชมลูกบ้าง เพื่อให้ลูกรู้สึกดีกับตนเอง การตอบสนองในเชิงเข้าใจจะทำให้ลูกกล้าเปิดใจคุยกับเรามากขึ้น ลูกจะรู้สึกปลอดภัยที่จะบอกพ่อแม่ได้ทุกเรื่อง

7. ถึงเวลาชวนลูกไปหาหมอ ชวนด้วยข้อดีให้ความหวัง ประโยชน์ที่จะได้รับ

ชวนในเชิงบวกว่าไปแล้วลูกจะได้อะไร ไม่ใช่ในเชิงตัดสินว่าเธอป่วย เธอต้องรักษา เด็กจะไม่ค่อยชอบคำพวกนี้ หากพ่อแม่เห็นว่าลูกควรได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ การชวนลูกไปพบจิตแพทย์หรือรับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยานั้นไม่ควรใช้คำพูดว่า ลูกป่วยนะ ไปหาหมอ เด็กจะรู้สึกว่าถูกตัดสินไปแล้ว วิธีการชวนควรพูดในทำนองว่าแม่เป็นห่วงนะ ลองไปหาหมอไหม เผื่ออะไรจะดีขึ้น เผื่อชีวิตจะกลับมาสดใสเหมือนเดิม เผื่อลูกจะยิ้มได้มากขึ้น

อยากติดตามเรื่องราวดีๆ อย่างต่อเนื่อง กด Like กด Share หรือเขียน Comment ใต้โพสต์ให้เราซักนิด เพื่อเป็นกำลังใจให้ไปต่อ🙏
📍มาเป็นเพื่อนกันใน CountUp คอมมูนิตี้แห่งใหม่ที่วัยไม่ใช่ข้อจำกัด จะกิน เที่ยว เปรี้ยว ซ่า ที่ไหน ก็ไปให้สุดกับชีวิตในวัย 50 ได้ทาง
Website : www.countup.life
LINE Official : https://bit.ly/3VTZsx1
YouTube : https://bit.ly/3MKs9rM
Instagram : https://bit.ly/3Twg5N0
TikTok : https://bit.ly/3KW7zF5
LINE OPENCHAT : https://bit.ly/485c0Yv

Share this:

Back To Top
×Close search
Search