A Decrease font size. A Reset font size. A Increase font size.
บ้านฉันอยู่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เป็นคนเมืองนนท์มากว่า 30 แล้ว แต่สมัยที่เรียนไปจนถึงช่วงที่ยังทำงานประจำ ฉันมัก ใช้ชีวิตไกลบ้านแทบทุกวัน พอวันไหนมีเวลาพักก็อยากจะอยู่นิ่งๆที่บ้านไม่ออกไปไหน จนไม่ค่อยได้รู้ว่าแถวบ้านตัวเองมีอะไรดี มีอะไร อร่อย น่าชม น่าชิมบ้าง กระทั่งวันนี้ในวัยใกล้เกษียณและได้ผันตัวเองมาทำงานเป็นฟรีแลนซ์ จึงมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น มีโอกาสไปไหนมาไหนแถวบ้าน บ่อยขึ้น อย่างน้อยก็ออกไปกินข้าว ไปซื้อของ บางวันได้ไปจ่ายตลาดสดตอนเช้า บางวันจ่ายตลาดสดยามเย็น ไปกินก๋วยเตี๋ยว ได้กลับ มาใช้ชีวิตแบบที่คุ้นเคยสมัยเมื่อยังไม่มีห้าง ไม่มีร้านสะดวกซื้อมาเกยถึงหน้าบ้าน จึงได้ค่อยๆค้นพบว่า ใกล้ๆบ้านเราก็มีอะไรดีๆ น่าสนใจ ไม่น้อย ทั้งเรื่องเที่ยว เรื่องกิน ครั้งนี้เลยขออาสาพาเที่ยวเมืองนนท์กันสัก 1 วัน
วัดเยอะ
จุดเด่นข้อแรกของเมืองนนท์คือมีวัดเยอะมาก ทั้งวัดในประวัติศาสตร์ วัดสร้างใหม่ในชุมชนต่างๆ เอาแค่ซอยโรงเรียนอัมพร ไพศาล ที่ฉันอยู่ไปถึงตลาดปากเกร็ด ก็มีเกือบสิบวัดแล้ว แต่วัดใหญ่ในย่านนี้ ที่คนทั่วไปรู้จักคือวัดกู้ หรือ วัดพระนางเรือล่ม ที่มีศาลของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์พระบรมราชเทวี พระมเหสี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่ภายในวัด ฉันเลยขอเริ่มที่วัดกู้นี่แหละ เดิมวัดมีชื่อว่า “วัดท่าสอน” หรือ “วัดหลังสวน” เป็นวัดเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในตำบลบางพูด สร้างมาแต่สมัยกรุงธนบุรีหรือสมัยอยุธยาตอนปลายหรือกว่า 260 ปีมาแล้ว เล่าต่อๆกันมาว่าผู้สร้างคือพญาเจ่ง ชาวมอญที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี วัดจึงถูกสร้างด้วยศิลปะแบบมอญผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม ฝาผนังภายในวิหารที่เป็นเรื่องราวพุทธประวัติ พระพุทธรูป เจดีย์ทรงมอญ ที่เหลือให้เห็นอยู่น้อยมาก
ชื่อวัดได้เปลี่ยนหลังเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 ครั้งนั้นขบวนเรือพระที่นั่ง ของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เกิดอุบัติเหตุล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา ในคราวที่เสด็จประพาสพระราชวังบางปะอินทางชลมารค ขณะแล่นมาถึงตำบลบางพูด เป็นเหตุให้สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ที่ในขณะนั้นทรงตั้งพระครรภ์เจ้าฟ้าได้ 5 เดือนแล้ว สวรรคต พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ที่โดยเสด็จและสิ้นพระชนม์ในคราวเดียวกัน หลังอุบัติเหตุได้มีการเชิญพระศพขึ้นที่วัดกู้เป็นการชั่วคราว ก่อนที่จะอัญเชิญพระศพทั้งสองพระองค์กลับสู่พระนคร นับแต่นั้นเป็นต้นมาชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่า “วัดกู้” และเรียกสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ว่า “พระนางเรือล่ม”เกร็ดประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวัดคงหาอ่านเพิ่มเติมกันได้ไม่ยากนะคะ
ทำบุญแล้วก็ทำทาน
แต่ที่อยากเล่าให้ฟังคือความประทับใจในวัดกู้ที่ฉันได้มีโอกาสมาหลายครั้ง หลายช่วงเวลา ในปีนี้ ทั้งมาทำบุญ มาสวดมนต์ และมาออกกำลังกาย ไม่อยากเชื่อว่าวัดใหญ่และดังอย่างนี้มีการบริหารจัดการและพัฒนา
วัดให้เป็นศูนย์กลางของคนในชุมชนได้อย่างดี มีความเป็นระเบียบ สะอาด ที่วัดนี้เราจะเห็นพระสงฆ์ทำกิจต่างๆในการดูแลวัดอยู่เสมอทั้งกวาดใบไม้ รดน้ำ ตัดแต่งต้นไม้ ใครมาไหว้พระ ทำบุญ บริจาค ไถ่ชีวิตโค-กระบือ ปล่อยปลาที่ท่าน้ำก็สบายใจ เพราะไม่มีร้านขายของที่ไร้ระเบียบ ไม่มีความจอแจในวัด ทำให้ที่นี่ สงบต่างจากวัดใหญ่หลายแห่ง จนอยากชวน ให้คุณมาเห็นด้วยตาตัวเอง และทำกิจกรรมหลายๆอย่างที่วัดแห่งนี้
เวลามาฉันจะหาที่จอดรถด้านหลังวิหาร แล้วเดินขึ้นไปบนวิหารสีขาวที่ตั้งตระหง่านอยู่หน้าวัด เพื่อกราบสักการะหลวงพ่อสำเร็จ พระประธานหินอ่อนสีขาวองค์ใหญ่ที่ขนาดขององค์พระรับกับเพดานสูงอย่างสวยงาม ทำให้ภายในวิหารนั้นปลอดโปร่ง ตอนที่มาทำวัตร เย็น (มีทุกวัน บางวันมีทำวัตรเช้าด้วย) จึงรู้สึกเย็นกายเย็นใจจริงๆ
พอลงจากวิหารใหญ่ จะเห็นวิหารเปิดประดิษฐานพระนอนอายุหลายร้อยปีที่มีความกว้าง 4 เมตร ยาวถึง 37 เมตร ตรงนี้จุดธูปเทียนสักการะได้ด้านข้างวิหารเป็นที่เก็บเรือพระที่นั่งของพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ที่ฯอับปาง ซึ่งชาวบ้านได้กู้ขึ้นมา เข้าไปชมได้ แล้วถ้าอยากทำบุญเดินไปอีกนิดมีศาลาทำบุญ บริจาค ทำสังฆทาน มีบ้านโค-กระบือที่ทางวัดไถ่ชีวิตมาเพื่อมอบแก่หน่วยงานทาง การ เกษตรได้ใช้ประโยชน์ต่อไป เราสามารถบริจาคทำบุญเพื่อไถ่ชีวิตและให้อาหารโค-กระ บือได้
โบราณสถานล้ำค่า
เดินเลี้ยวไปอีกนิด หน้าอาคารไม้ สักการะพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 แล้วจึงไปยังอุโบสถเก่าของวัดกู้ ที่กรมศิลปากรประกาศ ขึ้นทะเบียนโบราณสถานไว้เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2541 เพราะอุโบสถเหลังนี้เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่มองจากด้านข้างจะ เห็นว่ามีฐานอุโบสถ แอ่นโค้งคล้ายท้องเรือสำเภา แบบศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย จุดธูปเทียน สักการะที่ด้านหน้าอุโบสถแล้ว เข้าไปกราบหลวงพ่อสมปรารถนาที่ขึ้นชื่อว่าศักดิ์สิทธ์นัก และชมความงามของ ศิลปะที่ยังหลงเหลือยู่ ทั้งเพดานไม้ที่เขียนเป็นลายดอกไม้ จิตรกรรมฝาผนังเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์มอญ ที่แม้ปัจจุบันชำรุดและเลือน หายไปมากแล้วแต่ยังน่าชม
แค่บริเวณหน้าวัดก็ได้สักการะ ทำบุญไปหลายอย่างแล้ว ของดีวัดกู้ยังไม่หมดเท่านี้ แต่ต้องไปต่ออีกนิด จะเดินหรือขับรถก็ได้ ผ่านเรือนไม้หลังใหญ่ผ่านพระตำหนักที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ สถานที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯไปตามแนวกำแพงวัดจน สุดทางที่มีอาคารสีขาวหลังใหญ่ตั้งอยู่ปลายทาง นั่นคือตำหนักพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯหลังใหม่ที่สร้างขึ้นด้วยศรัทธาของประชาชน ตั้งอยู่ที่ท่าน้ำของวัด อาคารที่เด่นสะดุดตา เหมือนลอยอยู่เหนือน้ำนี้ จำลองแบบจากศาลาจตุรมุขของพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ ที่พระราชวังบางปะอิน สถานที่ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงโปรดปรานมาก
ภายในพระตำหนักจำลองนี้ มีรูปปั้นของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯและ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ทั้งที่ชั้น 1 และ ชั้น 2 เปิดให้สักการะ ขอพร จนถึง 17.00 น ทุกวัน ลงจากตำหนักเดินอ้อมไปตามท่งเดินจนถึงด้านหลังจะมีสะพานทอดไปยังท่าเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนเย็นๆ บริเวณนี้จะมี ความสวยงามเป็นธรรมชาติ มีเรือล่องผ่านไปมา และมีกิจกรรมให้อาหารปลา ให้อาหารนก ปล่อยปลา ชมวิว ให้ได้เพลิดเพลินด้วย จึงเป็นแหล่งสันทนาการของชาวแบ้านแถวนี้
หาของอร่อยกิน
ทำบุญสบายใจแล้ว เราไปหาของอร่อยกินกันต่อ ที่ร้าน “ง ง้วน ครัวบ้านริมน้ำ” ร้านอาหารที่อยู่ข้างวัดนี่เอง เดินจากตำหนักออกไปถึงร้านเลย ง ง้วน เคาะกระทะ เปิดเตามาตั้งแต่ ปีพ.ศ.2533 เป็นร้านอาหารเป็นเรือนไม้ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เสิร์ฟเมนูอาหารไทยที่รสชาติใช้ได้ มีเมนูเป็นเล่มใหญ่ให้เลือกจนเลือกไม่ถูกเลย
ส่วนเมนูโปรดของฉันคือ ผักบุ้งผัดเต้าหู้ยี้ ที่รสดีกว่าผัดเต้าเจี้ยวและผักบุ้งกรอบอร่อย ทอดมันปลากรายแบบชิ้นใหญ่ๆ เนื้อหนึบหนับ ปลาคังผัดฉ่าที่ไม่ขี้เหนียวเครื่อง ปีกไก่ทอดได้กรอบนอกนุ่มใน และแกงส้มชะอมกุ้งรสจัด ที่ทำให้ต้องเติมข้าวแบบ ปฏิเสธไม่ได้ ร้านนี้ถ้ามาช่วงเย็น ก่อนมืดก็จะได้ชมพระอาทิตย์ตกริมแม่น้ำเป็นของแถมอีกด้วย
ส่วนตอนเย็นวัดกู้จะคึกคักด้วยชาวบ้านที่มาใช้เส้นทางและสนามในวัดเป็นที่เดินวิ่งออกกำลังกาย เด็กมาหัดขี่จักรยาน เล่นฟุต บอล และผู้ที่ตั้งใจมาทำวัตรเย็น วัดกู้จึงเป็นอีกสถานที่ที่สามารถกอบกู้ทั้งพลังกายและพลังใจให้ผู้ที่ก้าวเข้ามาในวัดแห่งนี้ ได้เสมอ วัดนี้ทำให้ฉันคิดถึงคำพูดที่ได้ยินสมัยเด็กๆว่า วัดกับบ้านนั้นต้องอยู่ใกล้กันเพื่อเกื้อหนุนกันแบบนี้
Share this:
เรื่องล่าสุด
หมวดหมู่