A Decrease font size. A Reset font size. A Increase font size.
เคยไหมที่แค่ลืมโทรศัพท์ ก็สงสัยว่าเราจะเป็นอัลไซเมอร์หรือเปล่า อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะคุณอาจแค่ไม่มีสมาธิหรืออาจยุ่งมากจนทำเอาลืมได้ง่ายๆ แล้วอัลไซเมอร์ก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ถ้ารู้วิธีป้องกันฉบับ ‘CountUp x คุณหมอโรคอัลไซเมอร์’ ที่ช่วย #saveสมองเราได้ ในสไตล์ชิลชิล
มาเลือกกิน “healty food” ครบ 5 หมู่ ตรงเวลา ผักผลไม้ไม่ขาด และที่ต้องเน้นเลย คือ ลดหวาน เค็ม และมัน หลีกเลี่ยงการทำลายหลอดเลือดสมอง อาจเป็นอาหารไทยที่ยังไม่ได้รับวัฒนธรรมการกินจากต่างชาติ ที่น้ำมันเยอะๆ เช่น ข้าวน้ำพริกปลาทูของไทย หรือ อาหารญี่ปุ่นส่วนใหญ่ใช้น้ำมันปรุงน้อย (ยกเว้นเมนูทอด!) อย่าง ปลาซาบะย่าง เต้าหู้ หรือ ซุปมิโสะร้อนๆ ใครชอบก็จัดไปได้เลย
คุณรู้ไหมว่าเวลาที่ร่างกายขยับ สมองก็ได้ประโยชน์ด้วย แต่ต้องเน้นว่าเป็นการออกกำลังกายที่ต้อง “ต่อเนื่อง” โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาทีต่อวัน และ 3 วัน ต่อสัปดาห์ ที่ไม่ใช่การเดินช้อปปิ้งที่เดี๋ยวหยุด เดี๋ยวเดิน หรือการทำงานบ้าน ที่แอบอู้ได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องออกกำลังหนักๆ อาจว่ายน้ำ ตีปิงปอง เดาะบอล ฝึกโยคะ หรือเดินเร็วแถวบ้านแค่ 30 นาที
นอกจากเรื่องควรทำ ยังมีเรื่องไม่ควรทำเพื่อลดการทำร้ายสมองของตัวคุณเอง ที่ได้แก่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือ การสูบบุหรี่ ที่เป็นตัวเร่งให้สมองของเรายิ่งพัง
ปล่อยวางเรื่องกวนใจ ที่เริ่มได้ตั้งแต่การขับรถบนท้องถนน หงุดหงิดคันหน้าเมื่อไหร่ ท่องไว้ว่าต้องลืมให้เร็วที่สุด ไปจนถึงเรื่องหนักอกกวนใจอย่างเรื่องหนี้สิน หรือ ปัญหาของลูกๆ ก็ค่อยๆ แก้กันไป อย่าไปยึดนาน รวมถึงต้องจัดเวลาให้สมดุล ไม่พกงานกลับบ้าน ก่อนจะเกิด “ความเครียดสะสมเรื้อรัง” และความไม่สมดุลของสารต้านอนุมูลอิสระ ที่จะส่งผลเสียต่อสมองของเรา
เริ่มตั้งแต่นอนดี นอนครบ ตามด้วยการเข้าสังคมใช้เวลากับครอบครัว ที่หากลูกหลานไม่ว่างเราต้องฝึกที่จะปรับตัวด้วย เช่น เข้าสังคมกับเพื่อนๆโดยเฉพาะเพื่อนต่างวัย ที่ในเวลาเดียวกันงานอดิเรกก็ช่วยได้มาก ไม่ต้องถึงกับเล่นเกมหนักๆฝึกสมอง แค่ทำสิ่งที่ชอบ อย่างร้องเพลง เรียนภาษา สะสมพระ ทำงานเย็บปักถักร้อย ไปจนถึงเล่นเกมออนไลน์ หรือกิจกรรมอะไรก็ได้ที่ช่วยให้รื่นรมย์
สำหรับมือใหม่ทำความเข้าใจ “อัลไซเมอร์” นี่คือโรคที่เกิดการบกพร่องของการรู้คิดส่วนความจำตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ที่มักจะเริ่มจากความจำระยะสั้น เช่น หลงลืมเรื่องราวรอบตัวลืมว่าใครยืมเงินเรา เรายืมเงินใคร (ก็ยังได้!)ไปจนถึงรบกวนหลายทักษะ การลืมที่ไกลตัว โดยไม่ได้เกิดขึ้นปุบปับ ไม่ได้เป็นทุกคน และหากเราดูแลตัวเองดี ไปพร้อมกับการใช้ชีวิตให้สนุก ไม่เครียด ก็สามารถป้องกันได้ ยังไงก็ไม่ลืม
ขอขอบคุณ : นพ.อิทธิพล ตะวันกาญจนโชติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญภาวะสมองเสื่อม (Dementia Syndrome) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่แบ่งปันความรู้กับ CountUp
Share this:
เรื่องล่าสุด
หมวดหมู่