A Decrease font size. A Reset font size. A Increase font size.
1 วันในรอบ 1 ปีกับความระทึกใจ ที่จะรอรับประกาศนียบัตรสุขภาพเต็มร้อย ที่ภูมิใจทุกครั้ง หลังผ่านทุกอย่าง มาเตรียม ความพร้อมของร่างกายไว้ก่อนด้วยเรื่องน่ารู้จะได้ไม่กังวล แล้วทําความรู้จักอีกสักนิดว่าเราตรวจอะไรไปเพื่ออะไร จะได้แข็งแรงไปอีก 365 วัน “รักนะจึงห่วงใย” จาก CountUp ตรวจเพื่อรู้ จะได้แก้ไขทัน ชวนเพื่อนไปด้วยกันยิ่งดี
ถ้าเป็นการตรวจสุขภาพชุดใหญ่วัย 50+ เตรียมใจไว้เลยว่ายังไงก็ต้องเคลียร์นัดเต็มวัน เพราะส่วนใหญ่ครึ่งวันแรกจะเปิดทางให้การตรวจสุขภาพทั่วไป กับรอผลเลือด ก่อนเข้าสู่การตรวจเฉพาะทางในช่วงบ่าย เช่น การตรวจมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกสำหรับผู้หญิง และมะเร็งต่อมลูกหมากสำหรับผู้ชาย ยังไม่นับรวมอีกหลายด่านที่ตรวจด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งโรงพยาบาลบางแห่งมีให้บริการ ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงและความต้องการของแต่ละคน รู้แบบนี้จะได้เตรียมวางแผนทำงานล่วงหน้า ไม่มีเสียเวลา ไม่มีสะดุด คุ้มสุดๆ เพื่อสุขภาพคุณเอง
สำหรับใครที่ชอบชักแม่น้ำทั้งห้า พยายามทุกวิถีทางไม่ให้ต้องไปตรวจสุขภาพประจำปี รู้ไว้เลยว่าบริการตรวจสุขภาพถึงบ้านจะทำให้คุณดิ้นไม่หลุด! ตอบโจทย์ความต้องการของหลายบ้าน และที่ทำงาน เพราะประหยัดเวลา ไม่ต้องรอคิว ไม่ต้องเดินทางด้วย แค่จ่ายเงินผ่านช่องทางออนไลน์ หรือชำระเงินวันที่เข้ารับบริการ หลังจากนั้นบุคลากรทางการแพทย์ก็จะมาเคาะประตูเก็บตัวอย่างเลือดกันถึงที่บ้านหรือที่ทำงาน ก่อนรับผลสุขภาพออนไลน์ภายใน 48 ชั่วโมง เข้าไปดูกันได้ที่ www.ocare.co.th
เข้าใจว่าท้อใจทุกทีที่รู้ว่าต้องงดอาหาร 12 ชั่วโมงก่อนตรวจเลือด จากปกติอดได้ แต่พอต้องเตรียมตัวอยู่ๆ ก็เกร็ง กลัวหิว อยากกินนู่นอยากกินนี่เต็มไปหมด ไปจนถึงไม่กล้าจิบแม้แต่น้ำเปล่า แต่เดี๋ยวก่อน ความจริงแล้วเรายังดื่มน้ำเปล่ากันได้นะ ที่ห้ามก็คือเครื่องดื่มอย่างน้ำหวาน น้ำอัดลม ชา และกาแฟ และยังมีการตรวจเลือดไม่กี่รายการเท่านั้นที่ต้องงดอาหาร คือ การตรวจระดับไขมันในเลือด และเบาหวาน เพื่อไม่ให้ไขมันและน้ำตาลที่ยังตกค้างสูงเกินจริง
ใครที่ไขมันในเลือดสูงต้องมีวินัยและฝึกกินให้เป็น ไม่ใช่ทุกสัปดาห์เน้นซีฟู้ด ของมันๆ จัดเต็มก่อนกลับตัวติวเข้มแค่ไม่กี่วัน ผลที่ได้ก็จะแค่เอาตัวรอดพอผ่าน ไม่ดีกับระยะยาวเป็นแน่
ตรวจเลือดแต่ละที ลุ้นสุดๆว่า “ไขมันเลว” หรือ คอเลสเตอรอลตัวอันตราย (LDL Cholesterol) เจ้าตัวต้นเหตุของการเกาะตัวตามผนังของหลอดเลือดและเส้นเลือดตีบ จะมาแรงแซงโค้งหรือเปล่า ที่โดยปกติไม่ควรเกิน 160 มก.% จากค่าคอเรสเตอรอลรวม 200 มก.% และไม่ควรเกิน 130 มก.% ในคนที่เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ส่วน “ไขมันดี” (HDL Cholesterol) ควรเกินกว่า 45 มก.%
ใครที่ไม่อยากไปลุ้นหน้างาน หรือใช้วิธีตีเนียนกินดีโค้งสุดท้าย ก็ต้องเตรียมตัวอย่างมีวินัยกันแบบยาวๆ คือ กินอาหารที่มีคอเลสเตอรอลต่ำ เช่น เนื้อปลา ไข่ขาว เต้าหู้และถั่วเหลือง นอกจากนี้ก็ต้องงดหลายเมูนูคอเลสเตอรอลสูง ที่ได้แก่ เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารทะเล (ยกเว้นปลา) ของหวาน และ ของทอด หรือท่องไว้เลยว่า “หวาน มัน กรอบ ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง” และที่ขาดไม่ได้เลย คือ ต้องออกกำลังกายด้วยนะ เน้นเป็นแนวแอโรบิค และต่อเนื่องด้วยอย่างน้อย 30 นาที 4 วันต่อสัปดาห์
เคยสงสัยไหมเค้าให้เราวิ่งสายพานทำไมนะ แต่วิ่งก็ได้นะ เดี๋ยวไม่คุ้ม เพราะลงทุนจ่ายไปแล้ว ความจริง “วิ่งสายพาน” มีประโยชน์มากกว่าที่หลายคนคิด เพราะเป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจระหว่างออกกำลังกาย ที่ละเอียดกว่าตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจแค่อย่างเดียว ช่วยให้คุณหมอประเมินสมรรถภาพของหัวใจ และช่วยเช็คโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันในเบื้องต้น ที่ถ้าใครไปต่อไม่ไหวก็แค่ขอหยุด ก่อนมารอลุ้นให้ผลตรวจเป็น “ลบ” ที่แปลได้ว่าไม่มีหลอดเลือดหัวใจตีบ (หรือหลอดเลือดหัวใจตีบแต่ไม่รุนแรง) ก่อนกลับไปออกกำลังกายในสไตล์ที่ชอบในแบบของคุณเอง
เชื่อไหมว่าความเขินอายทำให้ผู้หญิงไทยเสี่ยงเป็นมะเร็งอันดับต้นๆ ของผู้หญิง รวมถึงมะเร็งเต้านม ที่วัยเราหลายๆ คนที่ยังเขินทั้งรูปร่างและหน้าอกเวลาที่ตรวจร่างกาย โดยเฉพาะการตรวจรังสีเต้านม หรือ แมมโมแกรม (Mammogram) ที่ระหว่างตรวจต้องเผยร่างกาย และนี่คือที่มาของ “เสื้อไม่อาย” ที่คิดค้นโดย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแบบมาให้เปิดบริเวณหน้าอกได้ทีละข้าง ช่วยลดปัญหาความไม่มั่นใจในรูปร่างของผู้หญิงไทย นอกจากนี้ยังมีข่าวดีในอนาคตกับ “ยกทรงตรวจมะเร็ง EVA” ที่ไอเดียตั้งต้นมาจากจูเลียน ริโอส คันทู นักเรียนเม็กซิกันมัธยมปลายที่คุณแม่เป็นมะเร็งเต้านม โดยชุดที่ว่านี้จะฝังไบโอเซนเซอร์กว่า 200 จุด เพื่อเก็บข้อมูลส่งไปยังแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน ที่ไม่ว่าผู้หญิงคนไหนก็อยากมีไว้สักชุด โดยยังอยู่ในช่วงการพัฒนา ส่วนตอนนี้พบคุณหมอยังไงก็ปลอดภัยกว่า มาเลิกเขินเพื่อสุขภาพกันดีกว่า โดยเฉพาะวัยเรา
อย่าเพิ่งจินตนาการถึงการตรวจท่ายากๆ เพราะนอกจากตรวจด้วยการใช้นิ้วสัมผัสโดยคุณหมอเฉพาะทาง ไปจนถึงการตรวจในแลป มะเร็งต่อมลูกหมากยังสามารถตรวจได้ง่ายๆ แค่นัดคุณหมอไปตรวจร่างกายประจำปี ด้วยการตรวจหาสาร Prostatic Specific Antigen (PSA) จากการตรวจเลือด ที่ถ้าค่าต่ำก็แปลได้ว่าปลอดภัยไม่เสี่ยง รู้อย่างนี้แล้ว ห้ามพลาดเลยนะ นัดคุณหมอไปตรวจเลย
ยกชุดให้ครบสำหรับผู้หญิงทุกคน ถึงจะตรวจกี่ทีก็ลุ้นสุดๆ ว่าจะเจอมั้ย เจ้าก้อนที่ไม่อยากได้ นี่แหละความในใจของผู้หญิงวัย 50 และสำหรับคนที่ตรวจสุขภาพชุดใหญ่ที่รวมตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องทั้งหมดอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องตามมา คือ “อัลตราซาวด์เต้านม” เช็คความความผิดปกติ ที่ทำอย่างเดียวก็อาจจะยังไม่พอ เลยต้องต่อด้วย “แมมโมแกรม (mammogram)” เพื่อความชัวร์ ถ้าถามว่าต่างกันยังไง การตรวจ “อัลตราซาวด์” หมายถึงการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปในเนื้อเต้านม และรอฟังผล ส่วนการตรวจ “แมมโมแกรม” คือ การตรวจทางรังสีที่รังสีน้อยกว่าเอกซเรย์ แต่ตรวจได้ละเอียดกว่า ที่ตรวจหาได้ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น เป็นการตรวจที่มีข้อดีต่างกัน ซึ่งถ้าตรวจทั้ง 2 อย่างก็ยิ่งสบายหายห่วง ถ้าปีนี้ใครยังไม่ตรวจต้องรีบจองคิวไปตรวจกันเลย
ข้อมูล www.ocare.co.th www.healthlabclinic.com www.samitivejhospitals.com researchcenter.nurse.tu.ac.th www.bangkokbiznews.com www.intelligentliving.co www.honestdocs.co www.si.mahidol.ac.th med.mahidol.ac.th www.vibhavadi.com
Share this:
เรื่องล่าสุด
หมวดหมู่